QR Code

LINE Official

@interhome

หน้าหลัก ฝากขายบ้าน
ฝากขายที่ดินกับเรา
ติดต่อ ฝากซิ้อ
ฝากขายบ้าน ที่ดิน
ทีมงานมืออาชีพ

เดินเครื่องรถไฟฟ้าต่างจังหวัด ประเดิมเชียงใหม่-พังงา-ภูเก็ต-โคราช



การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม ปัจจุบันไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังขยายตัวไปสู่ต่างจังหวัดด้วย โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดที่มีการจราจรคับคั่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พังงา ภูเก็ต และนครราชสีมา ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมการคมนาคมในจังหวัดเหล่านี้ให้มีศักยภาพมากขึ้น

เชียงใหม่จะมีการพัฒนารถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งเป็นทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินช่วงที่วิ่งผ่านในเมือง และรถไฟฟ้าบนดินวิ่งระดับผิวถนน ตามแผนมีเส้นทางการเดินรถทั้งหมด 3 เส้นทาง รวมระยะทาง 36 กิโลเมตร ได้แก่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-สนามบิน-หางดง ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร มีทั้งหมด 12 สถานี / สายสีน้ำเงิน ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่-แยกห้างพรอมเมนาดา ระยะทางรวม 10.47 กิโลเมตร มีทั้งหมด 10 สถานี / สายสีเขียว ช่วงแยกรวมโชค-สนามบินเชียงใหม่ ระยะทางรวม 11.92 กม. มีทั้งหมด 13 สถานี

ในเส้นทางแรกคาดว่าจะใช้งบประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างปี 2563 เสร็จสิ้นและเปิดให้ใช้บริการในปี 2567 ก่อนที่จะขยายเส้นทางที่ 2 และ 3 ต่อไป โดยคาดว่าทั้ง 3 เส้นทาง จะใช้งบลงทุนเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจากการผลักดันให้มีการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 เส้นทาง นอกจากจะเพื่อรองรับการเดินทาง และแก้ปัญหาการจราจรแล้ว ยังเป็นการยกระดับการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่สู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เมืองสุขภาพ Wellness City และ Medical Health Hub ซึ่งจะทำให้เชียงใหม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน

สำหรับจังหวัดภูเก็ต-พังงา ซึ่งนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เกินขีดความสามารถในการรองรับและให้บริการได้

การก่อสร้างรถไฟฟ้าจะเป็นการแก้ไขปัญหาจราจร ลดระยะเวลาในการเดินทาง และสร้างศักยภาพให้จังหวัดภูเก็ตและพังงาเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับสากล จึงได้มีการพัฒนารถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ตจังหวัดภูเก็ตขึ้น รูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา 1 สาย ระยะทางรวม 58.52 กิโลเมตร ทั้งหมด 24 สถานี วิ่งบนดินระดับผิวถนนตลอดเส้นทาง ยกเว้นสถานีสนามบินภูเก็ตจะเป็นสถานียกระดับ โดยจุดเริ่มต้นอยู่ที่สถานีรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา เชื่อมต่อระบบรถไฟสายใหม่ เส้นทางสุราษฎร์ธานี-พังงา วิ่งไปสิ้นสุดที่ห้าแยกฉลองในตัวเมือง ทั้งนี้ เฟสแรกจะเริ่มก่อสร้างช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้างแยกฉลอง ระยะทางรวม 41.7 กิโลเมตร

ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างการเร่งศึกษาตามพระราชบัญญัติร่วมทุนในโครงการระบบขนส่งมวลชนเมืองภูเก็ต คาดว่าจะใช้งบลงทุนทั้งหมดประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และเนื่องจากแนวเส้นทาง จะมีความเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่อำเภอท่านุ่น จังหวัดพังงา จึงต้องมีการเจรจาขอใช้พื้นที่ของกรมทางหลวง โดยล่าสุดยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563 แล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2566 คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารในปีแรกอยู่ที่ 33,000 คนต่อวัน และจะเพิ่มเป็น 120,000 คนต่อวัน ในปี 2596

ส่วนจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่อันดับ 1 ของประเทศ มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และยังเป็นประตูสู่อีสานหรือจุดเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อีสานเหนือและอีสานใต้ ด้วยการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง ความแออัด และปัญหาการจราจรซึ่งส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง กระทรวงคมนาคมจึงเร่งรัดให้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดนครราชสีมา โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยมีระยะทาง 50.09 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายช่วงสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (ห้วยบ้านยาง)-ตลาดเซฟวัน และช่วงสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์-สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา สาขา 2 ระยะทาง 12.12 กิโลเมตร มีทั้งหมด 33 สถานี / สายสีส้ม ช่วงแยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า ระยะทาง 9.81 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายช่วงโรงเรียนเทศบาล 1-หัวทะเล-ดูโฮม ระยะทาง 5.37 กิโลเมตร มีทั้งหมด 23 สถานี / สายสีม่วง ช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 7.14 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายช่วงมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล-แยกจอหอ-ค่ายสุรนารายณ์ ระยะทาง 4.48 กิโลเมตร มีทั้งหมด 22 สถานี

ทั้งนี้ หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 19,600 คนต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 110,250 คนต่อวัน ในปี 2596

นับว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวดีที่ในอนาคตอันใกล้นี้ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พังงา ภูเก็ต และนครราชสีมา จะมีรถไฟฟ้าให้ใช้บริการ ซึ่งถ้าหากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ นอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพเมืองทั้งในด้านการเดินทาง แก้ปัญหาการจราจรของประชากรในพื้นที่แล้ว ยังหนุนให้การท่องเที่ยวในจังหวัดนั้น ๆ ให้คึกคัก และดึงรายได้เข้าสู่ประเทศได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

ที่มา : ddproperty

17 เมษายน 2562

แบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจ

บนช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ

Share On Line

คัดลอกบทความ