QR Code

LINE Official

@interhome

หน้าหลัก ฝากขายบ้าน
ฝากขายที่ดินกับเรา
ติดต่อ ฝากซิ้อ
ฝากขายบ้าน ที่ดิน
ทีมงานมืออาชีพ

ส.บ้านจัดสรร-คอนโดแท็กทีม



           เย็นย่ำศุกร์ 18 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรจัดประชุมประจำปี ตามธรรมเนียมมีการเชิญวิทยากรมาบรรยายในหัวข้อฮอตอิสชูส์ ท่ามกลางแรงกระเพื่อมหลังจากภาคเอกชนตั้งความหวังกับ "3 กันยายนโมเดล" ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดทำเนียบเชิญ ดีเวลอปเปอร์ล้อมวงหารือผ่าทางตันวิกฤตเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์โควิด

          "ดร.ดอน นาครทรรพ" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย บรรยายหัวข้อ "ภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจ ปัจจัยที่จะกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์" เริ่มต้นฉายภาพวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทยหลายรอบ อาทิ วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540, วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2552 เกิดขึ้นโดยเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพ แต่สถานการณ์โควิดเจอวิกฤตเศรษฐกิจทั้งโลก

          ณ เดือนมิถุนายน 2563 แบงก์ชาติประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ -8% ปี 2564-2565 ขยายตัว 5% จะเห็นว่าทำประเมิน 3 ปี 2563-2565 โดยปี 2565 มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะกลับมาสู่ภาวะก่อนเกิดโควิด

          ด้านสินเชื่อผู้บริโภคในไตรมาส 2/63 อสังหาฯเป็นภาคเดียว ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการแถลงข่าวของแบงก์ชาติเขียนข้างใต้ ว่า การขยายตัวดีเพราะว่ามีอุปสงค์

          อีกตัวที่ทางแบงก์ชาติจะดูคือ เรื่อง NPL มีมาตรการผิดนัดชำระ พักชำระหนี้ โดยภาคอสังหาฯ หนี้ NPL เท่าเดิม แต่ก็ยังสูงที่ 4% ถ้าเทียบกับอย่างอื่นแล้วถือว่าสูง การคาดคะเนของแบงก์ชาติก็คือเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ อีกตัวหนึ่งคือกำลังซื้อจากต่างประเทศ ไม่ได้มีผลกระทบบ้านแนวราบโดยตรง แต่กระทบคอนโดฯพบว่า อุปสงค์จากลูกค้าต่างชาติขึ้นสูงสุดปี 2561

          แต่พอปี 2562 ต่างชาติก็หาย คิดว่าไม่ใช่หายเพราะ LTV เพราะส่วนมากใช้เงินสด มองว่าดีมานด์ต่างชาติกระทบจากเทรดวอร์เป็นหลัก

          "ดร.ดอน" ฝากให้ติดตามใกล้ชิด 4 เรื่อง 1.ซัพพลายคงค้าง 2.ระยะเวลาขายหมด มีเทรนด์สวนทางกันระหว่างบิ๊กแบรนด์รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯมีแนวโน้มอัตราดูดซับลดลง ขณะที่ดีเวลอปเปอร์รายกลาง-รายเล็กนอกตลาดอัตราดูดซับเพิ่มขึ้น 3.การผิดนัดชำระหนี้หลังจากหมดแคมเปญพักหนี้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 และ 4.การออกตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีกำหนดครบดีลจำนวนมากภายในต้นปี 2564 เป็นสิ่งที่ต้องบริหารจัดการ

          "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ 2 นายกสมาคมถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เพื่อให้กลับมาฟื้นตัวได้ภายในไตรมาส 4/63 เริ่มจาก "วสันต์ เคียงศิริ" นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เสนอว่า 1.ถ้าต้องการให้อสังหาฯพยุงเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องปลดล็อก LTV เพื่อกระตุ้นลูกค้าเรียลดีมานด์ออกมาใช้เงิน 2.ประเด็นภาษีที่ดินซึ่งมีการปรับราคาประเมินรอบใหม่ในปี 2564 เท่ากับต้องจ่ายแพงขึ้น จึงเสนอให้ชะลอหรือยกเว้นอีก 1-2 ปี จนกว่าเข้าสู่ภาวะปกติ 3.การเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าต่างชาติ ซื้ออสังหาฯในรูปแบบสิทธิการเช่า ด้วยการเพิ่มคำจำกัดความทรัพย์สินประเภทที่อยู่อาศัยเพิ่มเข้าไปใน พ.ร.บ.การเช่าเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งให้เพดานเช่ายาว 50 ปี

          สุดท้าย "ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์" นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า มีข้อเสนอเพียง 5 ข้อที่สามารถฟื้นอสังหาฯในไตรมาส 4/63 ได้แก่ 1.ลูกค้าคนไทย เสนอลดค่าโอน-จดจำนอง ทุกราคา จาก 3% เหลือ 0.01% หรือล้านละ 3 หมื่น เหลือล้านละ 300 บาท สำหรับการโอนราคา 3 ล้านบาทแรก หมายความว่า ซื้อราคา 5 ล้านก็ได้รับลดค่าโอน-จำนอง 3 ล้านบาทแรก ส่วนที่เหลือ จ่ายตามปกติ เพื่อกระตุ้นผู้ซื้อตลาดกลาง-บนมีกำลังใจในการซื้อมากขึ้น และมียอดกู้ไม่ผ่านต่ำมาก โดยกำหนดเวลา 1 ปี 2.การติดแบล็กลิสต์ในเครดิตบูโร เดิมเมื่อมีสถานะเป็น NPL จะติดล็อกสินเชื่อ 3 ปี ขอให้ปรับลดเหลือ 1 ปี 3.เสนอให้ปลดล็อก LTV โดยการขอสินเชื่อสัญญาที่ 2 ใช้เงินดาวน์เหมือนซื้อบ้านหลังแรก เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อปัจจุบันซื้อหลังที่ 2 เป็นความจำเป็นในการใช้ชีวิต ไม่ใช่การเก็งกำไร 4.เสนอให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถประคองการจ้างงานทั้งลูกจ้างประจำและแรงงานจ้างรายวันในภาคก่อสร้าง เนื่องจากเริ่มมีสัญญาณการลดคนในบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่เกิดขึ้นแล้วในครึ่งปีหลัง 2563 5.ข้อเสนอกระตุ้นลูกค้าต่างชาติ ต่อยอดจากมาตรการให้ต่างชาติพักในเมืองไทย 270 วัน หรือ 9 เดือน เรียกว่า smart visa จึงเสนอดังนี้ 5.1 ซื้อห้องชุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ได้รับ smart visa คราวละ 1 ปี เป็นเวลา 5 ปี 5.2 ซื้อห้องชุด 5-10 ล้านบาท ได้รับ smart visa คราวละ 1 ปี เป็นเวลา 10 ปี และ 5.3 ซื้อห้องชุดเกิน 10 ล้านบาท ให้สิทธิได้รับอนุญาตให้ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือ residence visa

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

วันที่ : 23 กันยายน 2563

แบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจ

บนช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ

Share On Line

คัดลอกบทความ